ทองโบราณ ทองโบราณเพชรบุรี
  English  
 


ทองโบราณ / เครื่องทองโบราณ

 
 
ทองโบราณ
 


 
ทองโบราณ / เครื่องทองโบราณ

กระบวนการผลิตเชิงช่างทองโบราณ มุ่งเน้นคุณค่าแห่งความคิด ประกอบเข้ากับฝีมืออันบริสุทธิ์ ทุกๆ เทคนิคล้วนต้องใช้ความสามารถเฉพาะด้าน สมาธิ และระยะเวลาในการทำ งานทองโบราณส่วนใหญ่ จึงไม่สามารถผลิต เพื่อตอบสนองผู้ต้องการได้ทันท่วงที กระนั้นผู้ที่เห็นคุณค่าของงานฝีมือ เครื่องทองโบราณจึงเป็นกลุ่มคนที่ไม่มากนัก งานเครื่องทองโบราณมีกรรมวิธีในการผลิตหลากหลายเทคนิค ขั้นตอน และรูปแบบมากมายล้วนมีที่มา งานเครื่องทองโบราณแฝงไปด้วยความเชื่อ ที่มีมาแต่โบราณ มีความหมายอันเป็นสิริมงคล เสริมพลังต่อผู้ครอบครอง

ทองโบราณ

     ในดินแดน “ สุวรรณภูมิ ” นี้ ทุกคนล้วนนิยมชมชอบ “ ทองคำ ” กันทั้งนั้น จะเห็นว่าทุกชาติทุกภาษาต่างก็นิยมใช้ทองคำ ทำเป็นเครื่องใช้ เครื่องประดับเสื้อผ้าอาภรณ์ ทำเป็นรูปเคารพ ประดับตกแต่งสถาปัตยกรรมชั้นสูง ใช้แลกเปลี่ยนแทนเงินตรา หรือใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ ฯลฯ แต่คงไม่มีชาติไหน ที่ใช้ทองคำมากมายในชีวิตประจำวันเท่าคนไทย คนไทยเราใช้ทองคำเรื่อยเปื่อยไปจนถึงส่วนผสมของยา เช่น ยาหอมบางตำรับก็ผสมทองคำเปลว บางตำรับก็ปิดทอง นอกจากนั้นยังใช้ทำขนม เช่น ขนมทองเอกและขนมจ่ามงกุฎ หรือถ้าไม่ใช้เนื้อวัตถุตรงๆ อย่างที่กล่าวมา ก็ยังใช้ในทางอ้อม เช่น ใช้ตั้งชื่อคน ชื่อต้นไม้ ชื่อขนม ชื่อสถานที่ ลำพังเพียงชื่อจังหวัดและชื่ออำเภอก็นับไม่ถ้วนแล้ว ยกตัวอย่างเช่น

สุพรรณบุรี กาญจนบุรี อ่างทอง อู่ทอง กาญจนดิษฐ์ ทองผาภูมิ จอมทอง วังทอง โพนทอง โพธิ์ทอง พานทอง บ่อทอง โนนสุวรรณ สุวรรณภูมิ บางบัวทอง ร่องคำ ลำปลายมาศ เชียงคำ สุวรรณคูหา ทองแสนขัน คำเขื่อนแก้ว ฯลฯ



      คนไทยเรานั้นมี “ ทองคำ ” อยู่ในจิตใต้สำนึกอยู่เสมอ แม้แต่คำพูด คำพังเพย คำเปรียบเทียบ ก็ยังอุตส่าห์ไปเกี่ยวกับทองจนได้ เช่น “ อย่าเอาทองไปรู่กระเบื้อง ” “ พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง ” “ มีทองเท่าหนวดกุ้ง นอนสะดุ้งจนเรือนไหว ” “ เสียทองเท่าหัว ไม่ยอมเสียผัวให้ใคร ” “ ปิดทองหลังพระ ” “ ผ้าขี้ริ้วห่อทอง ” เห็นหนุ่มสาวคู่ไหนเหมาะสมกันก็เปรียบเทียบว่าเป็นเหมือน “ กิ่งทองใบหยก ” เห็นใครได้ดีแล้วลืมตนก็ว่าเป็น “ กิ้งก่าได้ทอง ” คนสวยหรือคนรูปหล่อนั้นอาจมีคนเรียกว่า “ พ่อเนื้อทอง ” “ แม่รูปทอง ” ใครพูดเก่งก็ว่า “ สาลิกาลิ้นทอง ”

      ความสำคัญของทองมีมากปานนี้ ก็เพราะว่าทองคำนั้นเป็นโลหธาต ุที่โดดเด่นกว่าโลหธาตุใดๆ ในโลก ทองคำแท้ จะมีสีสัน เหลืองอร่ามสุกใสอยู่เสมอไม่มีหมอง ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะใดๆ ทองคำไม่ทำปฏิกิริยา กับกรดใดๆ (ยกเว้นกรดกัดทองหรือน้ำประสานทอง) นอกจากนั้น แม้ทองคำจะเป็นโลหะหนัก แต่กลับมีความอ่อนตัวสูงสุด ทองคำ 1 กรัม สามารถรีดเป็นแผ่นบางๆ ที่มีความหนาเพียง 1 ในล้านส่วนของเซนติเมตร สามารถตีเป็นทองคำเปลวได้ถึง 180 ตารางเซนติเมตร หรือสามารถดึงเป็นเส้นที่มีความยาว เท่าเส้นรอบวงของโลก (นี่ไม่ได้โม้นะ) แต่ทองก็เป็นโลหะที่หาได้ยากมากบนโลกนี้ ในหินหนัก 1 ล้านกิโลกรัมจะมีแร่ทองคำปนอยู่เพียง 4 กรัม และในน้ำทะเลหนัก 9 ล้านกิโลกรัมจะมีแร่ทองคำปนอยู่เพียง 1 กรัมเท่านั้น ยิ่งในเมืองไทยเราตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีแหล่งแร่ทองคำอยู่เพียง 3 แห่งเท่านั้น (รู้สึกเดี๋ยวนี้จะเลิกไปแล้วด้วย) ทองคำจึงเป็นวัตถุยอดนิยม เป็นของเชิดหน้าชูตาและมีราคาแพง

ทองโบราณ

      ในสมัยของกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 1893-2301 ) นั้น ถือได้ว่าเป็น “ ยุคทอง ” ของไทย “ ทอง ” ทั้งในความหมายว่าเจริญรุ่งเรือง และในความหมายตรงๆ ตัวว่าเป็นยุคที่นิยมใช้ทองมากที่สุด ชาวต่างประเทศที่เข้ามาติดต่อด้านการค้าและการทูตกับกรุงศรีอยุธยา บันทึกไว้ในจดหมายเหตุต่างๆ ถึงความมั่งคั่งร่ำรวยและการใช้ทองของชาวกรุงศรีอยุธยา เช่น บาทหลวง เดอ ชัวสี ผู้ช่วยทูตแห่งราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางเข้ามาเจริญพระราชไมตรีเมื่อ พ.ศ. 2228 สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2231 ) ได้กล่าวถึงพระศรีสรรเพชญ์ ว่าเป็นพระพุทธรูปสูงประมาณ 42 ฟุต หุ้มทองคำหนาถึง 3 นิ้วฟุตทั้งองค์ ทั้งในโบสถ์ วิหาร ในพระอารามหลวงต่างๆ ล้วนแต่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำสูงประมาณ 17-18 ฟุตอีกหลายองค์ พระพุทธรูปซึ่งประดับด้วยเครื่องทองนั้นมีอีกนับร้อยๆ องค์ ต่อมาอีก 2 ปี ใน พ.ศ. 2230 มงซิเออร์ ซิมง เดอ ลาลูแบร์ อัครราชทูตฝรั่งเศสแห่งราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งเดินทางมาเจริญพระราชไมตรีอีกเช่นกันก็ได้กล่าวว่า พระพุทธรูปและรูปหล่อที่ทำด้วยทองในกรุงศรีอยุธยามีมากมายเหลือคณานับ ช่อฟ้า ใบระกา เพดาน โบสถ์ วิหาร ยอดปรางค์ ปราสาท เจดีย์ ล้วนแต่หุ้มทองคำดูพราวตาไปหมด ราชทูตลังกาที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ. 2275-2301 ) บันทึกไว้ว่า “ นภศูล ” ของพระปรางค์วัดมหาธาตุนั้นทำจากทองคำ ฯลฯ

      ลาลูแบร์ยังได้กล่าวถึงความนิยมใช้ทองประดับ ตกแต่งกายของชาวกรุงศรีอยุธยาไว้ว่า เด็กหนุ่มสาวลูกผู้ดีจะสวมกำไลข้อมือ กำไลแขน กำไลข้อเท้าทำด้วยทองหรือกาไหล่ทอง ทั้งยังสวมแหวนทองและตุ้มหูทองอีกด้วย โยส เชาเต็น ผู้จัดการบริษัทอินเดียตะวันออก แห่งประเทศฮอลันดาประจำกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 2153-2171 ) ถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2172-2199 ) กล่าวว่า หญิงชาวสยามนิยมปักปิ่นทองและสวมแหวนทองที่นิ้วมือ นิโคลาส แชรแวส หมอสอนศาสนาชาวฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาราว พ.ศ. 2226 สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น บรรยายว่าผู้มีอันจะกิน โดยเฉพาะขุนนาง นิยมใช้ผ้านุ่งที่ทอสอดด้วย เส้นทองแล่งและเส้นเงินแล่ง สวมสนับเพลาตัดด้วยผ้าเนื้อดีไว้ชั้นใน มีปลายขาต่ำกว่าหัวเข่า ชายปักดิ้นเงินและดิ้นทองอย่างงดงาม ผู้ชายนิยมสวมแหวนนากหรือแหวนทองหลายนิ้ว (น่าสนุก)

     แสดงว่าทองคำที่ใช้กันส่วนใหญ่ในกรุงศรีอยุธยาเกือบตลอดยุคนั้นมาจากนอกประเทศ นั่นคือ

มาจากชัยชนะในสงคราม ซึ่งมีอยู่หลายครั้งในสมัยกรุงศรีอยุธยา เช่น การชนะศึกเขมร ตีนครธรมแตกในปี พ.ศ. 1974 เป็นต้น

มาจากการค้าขายแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศ เช่น จีน อินเดีย เปอร์เชีย อาหรับ ชวา มลายู จัมปา เวียดนาม ญี่ปุ่นและประเทศในยุโรป

มาจากเครื่องราชบรรณาการของประเทศราช ซึ่งต้องถวายต้นไม้เงิน ต้นไม้ทองแด่กษัตริย์กรุงศรีอยุธยา เช่น ล้านนา ล้านช้าง แสนหวี เชียงตุง ตองอู โคตรบอง เรวแกว กัมพูชา เชียงไกร เชียงกราน เมืองน่าน อุยองตะหนะ มะละกา วรวารี ฯลฯ

นอกจากนั้น ยังเป็นเครื่องราชบรรณาการตอบแทนจากกษัตริย์เมืองอื่นที่กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาแต่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายเพื่อเจริญพระราชไมตรี



     เครื่องทองในยุคกรุงศรีอยุธยามีกรรมวิธี ในการทำต่างๆ กัน ดังนี้

     “ ตีเป็นแผ่น ” นำทองแผ่นมาตีเป็นแผ่นบางๆ ถ้ายังมีเนื้อทองมากเรียกว่า “ ทองใบ ” อาจนำมาตัดเป็นแผ่นเล็กๆ ลงอักขระด้วยวิธี “ จาร ” หรือ “ จารึก ” ด้วยเหล็กแหลมแล้วม้วนเป็นตะกรุด ใช้เป็นเครื่องรางของขลัง นำมาจารึกข้อความเป็นแผ่นลานทอง นำมาทำเป็น สุพรรณบัฏ คือ แผ่นจารึกพระนามหรือชื่อของกษัตริย์ พระบรมวงศ์หรือขุนนางชั้นสูง นำมาจารึกข้อความเป็นพระราชสาส์นสำหรับเจริญพระราชไมตรี นำไปหุ้มรูปเคารพ ภาชนะ เครื่องใช้ไม้สอย หรือชิ้นส่วนศิลปะสถาปัตยกรรม เช่น พระแท่นราชบัลลังก์ บุษบก ยอดปราสาท ยอดเจดีย์ ฯลฯ การหุ้มแบบนี้ถ้าเป็นการหุ้มพระพุทธรูปแล้วมีหมุดตรึง หรือมีลวดทองเย็บให้แผ่นทองติดกันตลอดองค์พระ เรียกว่า “ หุ้มแผลง ” ถ้านำมาหุ้มปลายหรือขอบ เช่น ปากถ้วย ยอดฉัตร ปลาย พวยกา ฯลฯ เรียกว่า “ เลี่ยม ” ถ้านำแผ่นทองมาทำให้เป็นรอยนูนขึ้นมาเป็นรูป เช่น พระพุทธรูปหรือลวดลาย โดยใช้เครื่องมือตอก กด จากด้านหลัง เรียกว่า การ “ ดุน ”

      ถ้าแผ่นทองนั้นถูกตีให้มีเนื้อทองบางมากๆ จนเป็น “ ทองคำเปลว ” ก็จะนำทองนั้นไป “ ปิด ” ลงบนผิวของวัสดุต่างๆ โดยใช้วัสดุอื่น เช่น ยางรัก เป็นตัวประสานให้ติดแน่น ทำให้วัสดุที่ได้รับการ “ ปิดทอง ” นั้น มีผิวเป็นสีทองงดงาม

ทองโบราณ

      “บุ” หมายถึง การตีทองขึ้นเป็นรูปทรงต่างๆ ที่ต้องการ เช่น บุชัน บุพระพุทธรูป ฯลฯ การบุขึ้นรูปนี้จะได้สิ่งของที่บางเบากว่าการหล่อ ใช้ทองน้อยกว่า แต่ต้องใช้ฝีมือมากกว่า หรือการทำทองเป็นแผ่นบางๆ หุ้มข้างนอกหรือรองข้างในวัสดุอื่นก็เรียกว่าการ “ บุ ” ได้

ทองโบราณ

     “หล่อ” หมายถึง การทำแม่พิมพ์เป็นรูปทรงสิ่งของที่ต้องการ นำทองมาหลอมละลายจนเป็นของเหลวแล้วเทลงในแม่พิมพ์ รอจนเย็นลงแล้วจึงนำมาถอดพิมพ์และตกแต่งรายละเอียด มักใช้ในงานสำคัญๆ ที่เป็นของสูง เช่น พระพุทธรูป เทวรูป เครื่องราชูปโภค ฯลฯ การหล่อนี้ถ้าเป็นของใหญ่ๆ ก็ต้องใช้ความชำนาญและเทคนิคมาก เพื่อป้องกันการแตกร้าวของเนื้อทอง ทั้งยังใช้เนื้อทองมากกว่าการบุขึ้นรูป สิ่งของที่ได้จากการหล่อ โดยเฉลี่ยจะหนาและหนักกว่าการบุ (ในปัจจุบันช่างฝีมือในการบุหาได้ยาก ขณะที่เทคโนโลยีการหล่อทำได้ง่ายขึ้น สิ่งของที่แต่โบราณนิยมทำโดยการบุ เช่น ขัน กระโถน กาน้ำ ฯลฯ จึงหันมากใช้วิธีหล่อแทน)

ทองโบราณ

      “สลัก” คือ การทำลวดลายโดย ใช้เครื่องมือปลายแหลมคม ตอกลงไปบนผิวทองให้เป็นลวดลายจาก ด้านหน้าของวัตถุ ถ้าตอกจนผิวทองนั้นขาดทะลุเป็นลายโปร่ง เรียกว่า “ ฉลุ ”

ทองโบราณ

      “คร่ำ” คือ การรีดทองเป็นเส้นเล็กๆ แล้วตอกฝังเป็นลวดลายลงไปบนโลหะอื่น เช่น เหล็ก นิยมทำกับใบมีด ใบกรรไกร สันดาป ด้ามมีด ด้ามดาบ ด้ามกรรไกร หรือฝักมีด ฝักดาบ (การคร่ำนี้ ในแถบสเปน โปรตุเกสก็ยังนิยมทำเป็นของใช้และเครื่องประดับอยู่ เขาเรียกของพวกนี้ว่าเครื่อง “ ดามัสกัส ” ส่อให้เห็นว่าสเปนและโปรตุเกสได้มาจากพวกแขกมัวร์)

ทองโบราณ

      “เปียกทอง” หมายถึง การนำทองไปละลายกับปรอท แล้วนำมาทาลงบนผิวโลหะอื่น เช่น เงิน จากนั้นใช้ความร้อนไล่ปรอทออกไป เนื้อทองก็จะติดแน่นกับสิ่งของนั้นๆ (ติดแน่นและคงทนกว่าการ “ชุบ” ทองด้วยไฟฟ้าในปัจจุบัน) ถ้าทำเป็นบางจุดเช่นในเครื่องถม เพื่อให้ลวดลายเด่นขึ้นเรียกว่า “ ตะทอง ” เครื่องถมชนิดนั้นเรียกว่า “ ถมตะทอง ”

ทองโบราณ

      “กาไหล่” หรือ “กะไหล่” เป็นการเคลือบโลหะอื่น เช่น เงินด้วยทองคำ หรือทองแดงด้วยเงิน ทำให้ผิววัสดุเป็นสีทองหรือสีเงิน (การกะไหล่ทองก็คงทนกว่าการ “ ชุบ ” ทองเช่นกัน)

      “ถม” คือการขูดผิววัสดุที่เป็นทองให้เป็นลวดลาย แล้วนำ “น้ำยาถม” ซึ่งมีสีดำเนื้อข้นมาทาถมลงไปจนเต็ม แล้วขัดแต่งจนเรียบสนิทเป็นผิวเดียวกัน ทำให้เกิดลวดลายดำบนผิวสีทอง เรียกว่า “ ถมทอง ” สิ่งของที่เป็นถมทองมีน้อยและหายาก (เพราะทองคำแพงนั่นเอง) ส่วนใหญ่จะพบ “ ถมเงิน ” และ “ ถมตะทอง ” (ซึ่งเนื้อวัสดุเป็นเงิน แล้วเปียกทองเป็นจุดๆ) บางครั้งนำภาชนะที่เป็น “ ถมเงิน ” มา “ เปียกทอง ” กันหมด แล้วอนุโลมเรียกว่า “ ถมทอง ” ก็มี เพราะแลดูเหมือนกัน ถมก็เป็นวิธีการที่ไทยรับมาจากโปรตุเกสเช่นเดียวกัน


 
 


 
เครื่องทองโบราณ
  - สร้อยคอทองโบราณ
  - สร้อยข้อมือทองโบราณ
  - กรอบพระทองโบราณ
  - จี้ทองโบราณ
  - ทับทรวง
  - แหวนทองโบราณ
  - กำไลทองโบราณ
  - ต่างหูทองโบราณ
  - เครื่องประดับแต่งงาน
  - ปิ่นทองโบราณ
  - ผอบทอง
  - เครื่องถมเงิน เครื่องถมทอง
  - งานเครื่องประดับ อื่นๆ
 
 

ร้าน กรุช่าง เครื่อง ทองโบราณ ทองโบราณเพชรบุรี
ดิโอลด์สยามพลาซ่า ชั้น 2 โซนผ้าไหม : โทร.083-7188850, 089-4597773
Copyright 2011 Guruthaiantiquejewelry.com

Thai English